วัยทอง เป็นช่วงวัยที่ร่างกายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย และจิตใจ โดยในด้านร่างกายนั้นช่วงวัยทองฮอร์โมนเพศจะลดลงไปเยอะ โดยเฉพาะกับผู้หญิงที่จะลดลงไปเร็วมากๆ ทำให้มีอาการวัยทองที่แสดงออกมาชัดเจนและรุนแรง ซึ่งอาการวัยทองนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย โดยผู้หญิงจะเป็นช่วงหลังจากหมดประจำเดือนไปแล้วประมาณ 1 ปี โดยเฉลี่ยอายุแล้วจะอยู่ที่อายุ 45 ถึง 50 เป็นต้นไป ดังนั้นวันนี้เราจึงจะมาบอกถึงอาการที่แสดงออกมาต่างๆ เหล่านั้นให้เอง รวมถึงวิธีแก้อาการวัยทอง การรักษาอาการวัยทอง และแนวทางการดูแลตนเองที่ถูกต้องในช่วงวัยทองเอามาฝากให้ด้วย ว่าแล้วก็ตามมาดูกันเลยค่ะ
อาการวัยทอง
วัยทอง ในแต่ละคนจะมีอาการมากน้อยแตกต่างกันไป ตั้งแต่ไม่มีอาการจนกระทั่งมีอาการมาก ซึ่งทำให้ใช้ชีวิตลำบากในสังคม โดยเราสามารถแบ่งอาการวัยทองออกมาได้ 2 อย่าง คืออาการทางด้านร่างกาย และอาการทางด้านจิตใจออกมาได้ดังนี้
อาการทางร่างกาย
- ร้อนวูบวาบ เป็นอาการทางร่างกายที่พบได้บ่อยที่สุดในสตรีวัยทอง และเป็นอาการที่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลง อาการที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นอาการร้อนตามตัวและใบหน้าซึ่งอาจมีเหงื่อออกที่ใบหน้าร่วมด้วยได้ อาการนี้เกิดได้ทั้งกลางวันและกลางคืน เมื่อวัดอุณหภูมิของผิวหนังในช่วงที่เกิดอาการจะพบว่าอุณหภูมิของผิวหนังร้อนขึ้นหลายองศา อาการร้อนวูบวาบจะเกิดบ่อยในช่วงปีแรกที่หมดประจำเดือนและอาจมีอาการต่อเนื่องยาวนานไปจนถึง 15 ปีหลังจากประจำเดือนหมด
- เหงื่อออกในตอนกลางคืน
- นอนไม่หลับ
- กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปัสสาวะบ่อย
- การตอบสนองต่อการกระตุ้นทางเพศลดลง เจ็บปวดเวลามีเพศสัมพันธ์และไม่ถึงจุดสุดยอด เนื่องจากช่องคลอดมีผนังบางลง การผลิตน้ำหล่อลื่นจากต่อมต่างๆ ภายในระบบสืบพันธุ์ลดลง ทำให้อาจกระทบต่อสัมพันธภาพและเกิดปัญหาครอบครัวตามมา
- มีอาการคัน แสบร้อน ระคายเคืองบริเวณช่องคลอด เนื่องจากเมื่อช่องคลอดแห้ง ผนังช่องคลอดบาง จะมีผลต่อความเป็นกรดด่างภายในช่องคลอด ความเป็นกรดจะลดลง ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- ใจสั่น เป็นอาการที่เกิดได้เป็นระยะ และไม่มีรูปแบบที่แน่นอน ทำให้ผู้หญิงวัยทองอาจมีความวิตกกังวลเนื่องมาจากการไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง
- ปวดศีรษะไมเกรน
- ปวดกระดูกและข้อ
อาการทางจิตใจ
เป็นอาการที่พบได้บ่อยไม่แพ้อาการทางร่างกาย ส่วนใหญ่อาการทางร่างกายและจิตใจจะเกิดร่วมกันจนยากที่จะบอกว่าอาการใดเกิดขึ้นก่อน อาการทางจิตใจที่พบได้บ่อย คือ อาการซึมเศร้า หลงลืมง่าย สมาธิสั้น และหงุดหงิดง่าย พบว่าอาการซึมเศร้าเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุดและมีผลต่อการอยู่ร่วมในสังคมมากที่สุด
วิธีแก้อาการวัยทอง
- การรักษาวัยทองโดยไม่ใช้ฮอร์โมน
ในขั้นแรกแพทย์จะใช้ “การพูดคุยแนวจิตบำบัด” เข้าแก้ไขปัญหาให้กับคนไข้ก่อน ในรายที่มีอาการนอนไม่หลับ เพื่อให้คนไข้ได้ระบายความกังวลใจ หรือความเครียดจากภาวะอารมณ์แปรปรวน ภาวะนอนไม่หลับเนื่องจากวัยทอง ซึ่งหากยังไม่ได้ผล ก็จะพิจารณาใช้วิตามิน กรดอะมิโนเข้าช่วย เพื่อเสริมให้ร่างกายสามารถนอนหลับได้ดีขึ้น ใจเย็นขึ้น และไม่หงุดหงิดง่าย ในลำดับต่อมาสำหรับคนไข้ที่มีอาการร้อนวูบวาบ แพทย์จะเลือกพิจารณา “ใช้สมุนไพรที่มีสรรพคุณและมีเลขทะเบียน อย. กำกับอย่างถูกต้อง” ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการร้อนวูบวาบได้ และถึงแม้ว่าจะเป็นสมุนไพรก็ต้องเป็นการใช้ตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น เพราะมีผลกระทบต่อตับและระบบร่างกายในส่วนอื่นๆ
- การรักษาอาการวัยทองแบบใช้ฮอร์โมน
โดยทั่วไปแล้วแพทย์มักจะไม่เลือกใช้วิธีการรักษาด้วยการใช้ฮอร์โมนเป็นลำดับแรก เนื่องจากการใช้ฮอร์โมนที่มากเกินไปอาจเสี่ยงกระตุ้นให้เกิดเนื้องอกหลายๆ ชนิดในผู้หญิง รวมทั้งเพิ่มโอกาสเสี่ยงทำให้เกิดเส้นเลือดอุดตันได้ง่ายขึ้นด้วย แต่หากพบว่าคนไข้มีอาการวัยทองรุนแรง และรักษาด้วยวิธีการไม่ใช้ฮอร์โมนแล้วประมาณ 2-3 เดือน แต่ก็ยังไม่ได้ผล แพทย์จึงจะเลือกการใช้ฮอร์โมนเข้าช่วย
แนวทางในการดูแลตนเองที่ถูกต้องช่วงวัยทอง
- รักษาสุขภาพร่างกายด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว, โยคะ, หรือว่ายน้ำ, เพื่อช่วยเสริมสร้างกระดูก, กล้ามเนื้อ, และการทำงานของหัวใจ
- การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีแคลเซียมสูงและอุดมไปด้วยสารอาหาร เช่น ผัก, ผลไม้, ธัญพืชที่ไม่ขัดสี และโปรตีนที่มีคุณภาพ
- ควบคุมน้ำหนัก การรักษาน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจและเบาหวาน
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำ การได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำช่วยให้คุณตรวจพบปัญหาสุขภาพได้เร็วขึ้น ทำให้สามารถทำการรักษาได้ทันที และมีโอกาสหายขาดสูง
- ควรทำให้ตนเองให้มีสุขภาพจิตที่ดี เพราะการมีสุขภาพจิตที่ดีจะช่วยให้เราดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการนอนมีบทบาทสำคัญในการรักษาสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ
- ไม่สูบบุหรี่ และลดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทั้งสองสิ่งนี้สามารถทำให้อาการของวัยทองแย่ลงและเพิ่มความเสี่ยงของโรคอื่นๆ ให้กับเราได้
ถึงแม้เราทุกคนจะหลีกเลี่ยงวัยทองไม่ได้ แต่วัยทองก็ไม่ได้จะอยู่กับเราตลอดไป จะมีแค่ช่วงแรกๆ 3-5 ปี ซึ่งในปัจจุบันมีวิธีแก้อาการวัยทอง ต่างๆ มากมาย ให้เราได้นำไปปรับใช้กับตนเอง ดังนั้นหากเราสามารถดูแลตัวเองได้ดี ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม อาการวัยทองต่างๆ ที่คอยกวนใจเราก็จะค่อยๆ หายไป การที่เรามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องวัยทองเป็นอย่างดี และเตรียมพร้อมตัวเองได้อย่างดีนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการวัยทองรุนแรง รวมถึงลดความเสี่ยงโรคแทรกซ้อนได้ด้วยค่ะ