ความสำคัญของแคลเซียมบำรุงกระดูก สำหรับผู้สูงอายุ
เมื่ออายุมากขึ้นกระดูกจะเริ่มสูญเสียความหนาแน่น ส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุนและเลี่ยงต่อการหักหรือแตกได้ง่าย ซึ่งการสูญเสียมวลกระดูก เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติแต่หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม ก็อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่รุนแรง เช่น ภาวะกระดูพรุน หรือ ภาวะกระดูกหัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยตรง
บทบาทสำคัญของแคลเซียม
เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน
แคลเซียมเป็นองค์ประกอบหลักของกระดูก ช่วยให้กระดูกมีความแข็งแรงและคงรูป
ลดความเสี่ยงของกระดูกพรุน
ในวัยสูงอายุ กระดูกจะเสื่อมสภาพและสูญเสียความหนาแน่น แคลเซียมช่วยชะลอการเสื่อมนี้และลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน
ปัจจัยที่ขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมและส่งเสริมให้มีการขับแคลเซียมออกจากร่างกาย
อาหารที่มีโซเดียมสูง
ทำให้สูญเสียแคลเซียมทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาหารที่มีรสเค็ม เช่น เครื่องปรุงรส เครื่องจิ้ม เนื้อสัตว์แปรรูป ของหมักดอง อาหารที่มีส่วนประกอบของผงฟู สารกันบูด เช่น เบเกอรี ซาลาเปา อาหารกระป๋อง และอาหารสำเร็จรูป
คาเฟอีน
ทำให้สูญเสียแคลเซียมทางปัสสาวะเพิ่มขึ้นและทางเดินอาหารดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลมสีดำ โดยไม่ควรได้รับคาเฟอีนมากกว่า 300 มิลลิกรัมต่อวันหรือเทียบเท่ากับการดื่มกาแฟประมาณ 2-3 แก้ว เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าเพิ่มความเสี่ยงกระดูกหักจากกระดูกพรุนไม่มากถึงร้อยละ 20
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
พบความเสี่ยงของกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้นเมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าหรือเท่ากับ 2 แก้วต่อวันในผู้หญิงและมากกว่าหรือเท่ากับ 3 แก้วต่อวันในผู้ชาย เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ทางเดินอาหารดูดซึมแคลเซียมได้ลดลงและเพิ่มการขับแคลเซียมทางปัสสาวะมากขึ้น
สารที่ขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมโดยสารนี้จะไปจับกับแคลเซียม ทำให้แคลเซียมไม่ถูกดูดซึมไปใช้ได้เต็มที่ เช่น ไฟเตท (เมล็ดพืช ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วเปลือกแข็ง ธัญพืช) ออกซาเลต (ใบยอ ชะพลู ผักโขม มะเขือพวง ยอดกระถิน หน่อไม้ ช็อคโกแลต ชา) แทนนิน (ชา ใบพลู กล้วยดิบ)
การสูบบุหรี่ จะทำให้ร่างกายได้รับนิโคติน ซึ่งนิโคตินจะไปขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม
การดูแลกระดูกนอกจากแคลเซียม
นอกจากการเสริมแคลเซียมแล้ว การดูแลสุขภาพกระดูกยังรวมถึง:
ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การเดิน โยคะ หรือเวทเทรนนิ่งเบา ๆ
รับวิตามินดี ผ่านการรับแสงแดดในช่วงเช้า
หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำลายกระดูก เช่น การสูบบุหรี่ หรือการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
สรุป
แคลเซียม เป็นแร่ธาตุสำคัญที่ช่วยเสริมสร้าง และรักษาความแข็งแรงของกระดูกและฟัน โดยเฉพาะในวัยสูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนหรือกระดูกแตกหักง่าย การดูแลสุขภาพกระดูกในช่วงวัยนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่ง และการเสริมแคลเซียมบำรุงกระดูก ผู้สูงอายุ อย่างเหมาะสมถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถเคลื่อนไหวได้ดียิ่งขึ้น